ใครๆ ก็รู้ว่า “เต้าหู้” คือหนึ่งในอาหารสุขภาพ ทำจากถั่วเหลืองที่มีประโยชน์ นิยมทานทดแทนเนื้อสัตว์ ดูได้จากเทศกาลกินเจแต่ละปี เต้าหู้แทบจะเป็นพระเอกเลยก็ว่าได้ รวมทั้งคนที่ทานมังสวิรัติ เต้าหู้คือแหล่งโปรตีนสำคัญพอๆ กับนมและไข่ แม้แต่คนทั่วๆ ไป ผลิตผลของเต้าหู้มีบทบาทสำคัญในอาหารมื้อต่างๆ เช่น น้ำเต้าหู้ แกงจืดเต้าหู้หมูสับ สเต็กเต้าหู้ แปรรูปเป็นเต้าหู้ยี้ทานกับข้าวต้ม หรือเป็นขนมหวานอย่างเต้าฮวยฟรุตสลัด
เคยสังเกตไหมว่า เวลาดูรายการอาหารของญี่ปุ่น เต้าหู้คือส่วนสำคัญของเมนูประจำวัน จนอดคิดไม่ได้ว่าบางทีอาจสอดคล้องกับสถิติที่ว่าชาวญี่ปุ่นมีอายุยืนติดอันดับต้นๆ ของโลกก็ได้…
ดังนั้นเรามาคุยกันถึงเรื่องเต้าหู้กันสักหน่อย
เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนผู้ที่คิดค้นเต้าหู้คือชาวจีนจนแพร่หลายไปในหลายประเทศของแถบเอเชีย ตามตำนานเชื่อว่า เจ้าชายหลิวอันได้ให้พ่อครัวหลวงบดถั่วเหลืองเป็นผงเพื่อนำไปต้มซุปให้พระมารดาที่กำลังประชวร แต่เกรงว่าจะจืดจึงสั่งให้เติมเกลือลงไปปรุงรส ปรากฏว่าน้ำถั่วเหลืองต้มนั้นกลับค่อยๆ จับตัวเป็นก้อนสีขาวนุ่มๆ เมื่อพระมารดาได้ชิมรับสั่งว่า “อร่อย” เจ้าชายหลิวอันจึงให้พ่อครัวหลวงค้นหาสาเหตุมาว่าทำไมจึงเกิดเป็นก้อนได้เช่นนี้ จนพบว่าเกลือบางชนิดมีผลให้ผงถั่วเหลืองที่ผสมน้ำเกาะตัวกันเป็นก้อน
เต้าหู้ที่บ้านเรานิยมทานมีหลายแบบ เช่น เต้าหู้นิ่ม เต้าหู้แข็ง มีทั้งขาวขุ่นสีธรรมชาติ และสีเหลืองด้วยใส่ขมิ้นลงไป หรือเต้าหู้หลอดที่มีส่วนผสมของไข่ไก่ หรือประเภทเต้าหู้พวงที่ผ่านการถนอมอาหารมาแล้ว เอามาใส่ในเย็นตาโฟอร่อยเหลือเกิน รวมทั้งเต้าหู้ที่ประยุกต์ใส่ส่วนผสมอื่นๆ เข้าไปอีกหลากหลายแบบ
มาดูประโยชน์ของเต้าหู้กันบ้าง ด้วยเต้าหู้เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง จึงมีไฟเบอร์สูง คอเลสเตอรอลน้อย มีโอเมก้า 3 และวิตามินอี ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้แทนน้ำนมจากสัตว์ในกรณีที่เด็กแพ้สารแลคโตส ดีต่อผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน และมีสารเลซิตินช่วยลดไขมัน ช่วยระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับความจำ มีฮอร์โมนไฟโตเอสโทรเจนช่วยบรรเทาอาการหลังหมดประจำเดือนของผู้หญิงหรือเรียกว่า “วัยทอง” ได้
ประโยชน์ดีๆ ของเต้าหู้มีมากมาย มื้อหน้าอย่าลืมหาเมนูอร่อยๆ จากเต้าหู้มาเป็นเมนูประดับโต๊ะกันล่ะ อย่าง เต้าหู้ทรงเครื่อง สลัดเต้าหู้ หรือหน้าหนาวแบบนี้ทำสุกี้เต้าหู้ให้ไออุ่นละมุนอยู่หน้าเตาก็ไม่เลวนะ