SME D Bank มอบความรู้หนุนธุรกิจเชนและแฟรนไชส์ ก้าวข้ามโควิดอย่างยั่งยืน

SME D Bank มอบความรู้หนุนธุรกิจเชนและแฟรนไชส์ ก้าวข้ามโควิดอย่างยั่งยืน

 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 45 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ กำลังซื้อจึงหดตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนอยู่จำนวนมากที่ต่างได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจบริการ โรงแรมห้องพัก ผับบาร์ ร้านอาหาร การประชุมสัมมนา การกีฬา รวมถึงกิจกรรมสันทนาการต่างๆ สิ่งที่ตามมา คือผู้ที่ได้รับงานต่อ หรือซัพพลายเชนในกลุ่มเหล่านี้ก็ต้องเจอภาวะความยากลำบากต่อๆ กันออกไปเป็นวงกว้าง

 

 

คุณนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เล่าต่อว่า ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากระลอกแรกที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 สถาบันการเงิน ต่างร่วมใจกันพักชำระหนี้ ซึ่งทาง SME D Bank เอง ก็ได้พักไป 6 เดือน ขณะเดียวกันก็มีการเบิกจ่ายสินเชื่อให้ SMEs ไปสูงกว่า 42,000 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายสินเชื่อสูงถึง 17,000 ราย

โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสองนี้ ยังนับว่าน้อยกว่าครั้งแรก เนื่องจากภาครัฐควบคุมเข้มงวดเป็นบางจังหวัดเท่านั้น แต่ด้วยบทเรียนจากครั้งก่อนจึงทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยลดลง โดยเฉพาะการคุมเข้มใน 28 จังหวัด แต่ในภาพรวมทั้งประเทศก็ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังพอเดินไปต่อได้ ซึ่งครั้งนี้ SME D Bank ก็ได้ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยพิจารณาตามจากผลกระทบหนักเบาของลูกค้าแต่ละราย  เช่น  ลดงวดการผ่อนชำระลง พักชำระเงินต้นให้ เหลือชำระเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนธุรกิจที่มีสายป่านไม่ยาวนัก ก็จะช่วยในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ การอัดฉีดเงิน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีสินเชื่อต่างๆ คอยสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น กลุ่ม SMEs รายเล็กๆ กลุ่มที่มีประวัติเสียกับสถาบันการเงินแห่งอื่นๆ รวมถึงกลุ่มที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้มาก ทางธนาคารฯ ก็มีสินเชื่อ SMEs One วงเงินสูงสุดรายละ 5 แสนบาท ดอกเบี้ย 1% ผ่อนนาน 5 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน คอยช่วยเหลือ เพียงนำเอกสารปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินแห่งนั้นมายื่นกู้ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้

 

 

ส่วนผู้ประกอบการที่เริ่มมีความแข็งแรงบ้างแล้วก็จะมีอยู่ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash วงเงินสูงสุดรายละ 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3%ต่อปี  ผ่อนนาน 5 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน หรือ Local Economy Loan วงเงินสูงสุดรายละ 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.875%ต่อปี  ผ่อนนาน 7 ปี ส่วนผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะมีสินเชื่อ Smart SMEs วงเงินสูงสุดรายละ 15 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5% ผ่อนนาน 10 ปี และล่าสุดทาง SME D Bank ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริม SMEs ที่มีศักยภาพ ออกสินเชื่อเสริมพลัง สร้างอนาคต SME ไทย วงเงินสูงสุดรายละ 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเพียง 1%ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ผ่อนนาน 7 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลดียังซัพพลายเชนในธุรกิจนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองด้วยการมองภาพไปข้างหน้า พร้อมแสวงหาโอกาสแบบใหม่ กับตลาดรูปแบบใหม่ๆ เพื่อรับโลก New Normal สิ่งที่ทางธนาคารฯ ต้องการส่งเสริมจึงเป็นเรื่องความรู้ ควบคู่ไปกับการให้เงินทุน เพื่อเกิดการพัฒนาตัวเอง หรือบางธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไป ก็เกิดการแสวงหาหนทางใหม่ๆ อย่างเช่น โครงการ Chain Store Management & Franchise System รุ่น 4 ที่ทางธนาคารได้สนับสนุน ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เกิดการสะดุด หรือไปต่ออย่างยากลำบากในสภาวะเช่นนี้ ได้นำความรู้ไปปรับหาแนวทางใหม่ๆ และเข้าใจรูปแบบที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น เรื่องใดบ้างที่ต้องดูแล, เพิ่มเติม และควบคุม เพื่อให้ธุรกิจก้าวไปอย่างยั่งยืน

 

การเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการนี้ เกิดจากที่ผ่านมา SME D Bank ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความรู้ความชำนาญเรื่อง SMEs มาโดยตลอด ซึ่งโครงการ Chain Store Management & Franchise System เป็นอีกโครงการที่จัดโดยผู้ทำงานด้าน SMEs มายาวนานอย่าง Smart SME จึงมั่นใจได้ว่าจะช่วยให้ความรู้ผู้ประกอบการในเรื่องเฉพาะด้านอย่างแท้จริง และนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ไม่ใช่เป็นการเรียนแค่เพียงวันเดียวแล้วเอามาปรับใช้ไม่ได้ ต่อมาคือการที่ผู้ประกอบการจะเติบโตได้จะต้องเข้าใจโครงสร้างของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องระบบการบริหารจัดการ การควบคุมต้นทุน และการบริหารสต็อกวัตถุดิบ ซึ่งมิติเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแรงมากขึ้น

 

(ดร. วิชัย เจริญธรรมานนท์ วิทยากรผู้คว่ำหวอดในวงการธุรกิจเชน และแฟรนไชส์มากว่า 30 ปี)

ซึ่งการอบรมผู้ประกอบการเพื่อให้เข้าสู่ระบบสากล ผ่านการเขียน การสร้างเครื่องมือในการบริหารจัดการ และสร้างมาตรฐานธุรกิจ หรือ Operation Manual เพื่อใช้เป็นคู่มือในการควบคุมมาตรฐาน การบริหาร การจัดการ และการควบคุมคุณภาพให้ทุกสาขา ทุกแฟรนไชส์ มีมาตรฐานเดียวกัน ก็จะช่วยพัฒนา SMEs ไทยให้มีโอกาสโตในระดับสากลได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ทางธนาคารจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้กับบริษัทที่มีระบบในการบริหารจัดการธุรกิจที่ดี อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของ SMEs ด้วยการส่งตัวแทนผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคาร เข้าร่วมอบรมในโครงการนี้อีกด้วย