“ส้มตำ” ราชาแห่งความนัว -

“ส้มตำ” ราชาแห่งความนัว

   “ส้มตำ” ราชาแห่งความนัว เมื่อนึกถึงความแซบเชื่อว่ามีหลายคนต้องซี้ดปาก และแน่นอนหนึ่งเดียวในดวงใจคงเป็นเมนูอะไรไปไม่ได้นอกจาก “ส้มตำ” อาหารพื้นถิ่นจากภาคอีสาน เพียงส่วนผสมพื้นบ้านง่ายๆ อย่างเส้นมะละกอดิบ มะเขือเทศสีดา พริก กระเทียม ถั่วฝักยาว ปรุงด้วยน้ำปลา มะนาว น้ำตาลปี๊บ และปลาร้า ตำคลุกเคล้าให้เข้ากันในครกสักหน่อยอร่อยซี้ดเกินห้ามใจ ใครอยากทานส้มตำสไตล์ไหนก็มีให้เลือกลิ้มรสความนัวได้อย่างมากมาย

ไม่ว่าจะทีเด็ดอย่างตำปูปลาร้ารสจัดจ้าน ตำไทยรสหวานอมเปรี้ยวที่ไม่ใส่ปูกับปลาร้าแต่แทนด้วยถั่วลิสงกับกุ้งแห้ง ดัดแปลงเป็นตำไทยใส่ปูก็เข้ากันอย่างลงตัว เพิ่มความนัวโดยใส่ขนมจีน ข้าวคั่ว ถั่วงอก กลายเป็นตำซั่วแสนอร่อย หรือทำตำป่าใส่เครื่องและผักหลากชนิดอย่างผักกระเฉด ปลากรอบ หน่อไม้ ถั่วงอก รวมถึงหอยแมลงภู่ ก็สุดแซบตามแบบฉบับชาวอีสาน หรือจะประยุกต์เอาผักผลไม้อย่างแตง ข้าวโพด มะม่วง รวมทั้งผลไม้รวม มะละกอ ชมพู่ แอปเปิ้ล สับปะรด มาตำถูกปากกันทั่วบ้านทั่วเมือง

นอกจากความแซบถึงใจแล้ว ส้มตำยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเต็มไปด้วยพืชผักสมุนไพรต่างๆ มะละกอ มีวิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ป้องกันโรคหวัด ช่วยชะลอความแก่ พริกขี้หนู ช่วยเจริญอาหาร ลดน้ำตาลในเลือด แก้ลมจุกเสียด ลดระดับน้ำตาลในเลือด กระเทียม ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคมะเร็ง ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ขับเสมหะ ป้องกันผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว

   มะเขือเทศสีดา ช่วยชะลอความชรา มีสารต้านอนุมูลอิสระ ถั่วฝักยาว มีวิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยบำรุงไตและม้าม ลดคอเลสเตอรอล มะนาว ช่วยย่อยอาหาร มีวิตามินซีสูง ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ลดไข้ แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ร่ายกายสดชื่น

แต่การทานส้มตำแต่เพียงอย่างเดียวอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจทานคู่กับข้าวเหนียว ไก่ย่าง ปลาเผา หรืออาหารอีสานอื่นๆ อย่าง ลาบ น้ำตก เสริมคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนให้แก่ร่างกาย แถมช่วยเพิ่มอรรถรสการทานส้มตำให้สุขใจยิ่งขึ้นอีกด้วย

อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามคือความสะอาดโดยเฉพาะสารปนเปื้อนเชื้อราจากเครื่องปรุงอย่าง กระเทียม ถั่ว กุ้งแห้ง  ที่มีสาร อะฟลาทอกซินที่ทำให้ท้องเสียและก่อมะเร็ง รวมทั้ง ปลาร้า ปูเค็ม ที่นิยมทานแบบยังไม่สุก จึงต้องตระหนักไว้เสมอว่าส้มตำเป็นอาหารที่ไม่ได้ผ่านความร้อน ความสะอาดเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุด

รวมถึงภาชนะที่ใช้ใส่ส้มตำ เช่น ส้มตำถาดที่นิยมกันในปัจจุบัน ควรเลือกใช้จานหรือถาดที่เป็นเซรามิก แก้ว หรือสแตนเลสจะดีกว่าถาดที่ทำจากอะลูมิเนียม เมื่อโดนกรดรสเปรี้ยวจากมะนาวในส้มตำ จะมีโลหะหนักอย่างตะกั่ว แคดเมียมออกมาเจือปนในส้มตำ เมื่อทานเข้าไปเกิดการสะสมในร่างกายเกิดเป็นมะเร็งได้

Related Post  “ผักสลัด” สารพัดคุณค่าในจานเดียว